เสียงแรกของการอนุรักษ์ มาจาก ผู้บุกเบิกการอนุรักษ์ธรรมชาติของไทย เป็นผู้ริเริ่ม ทั้งยังช่วยวางรากฐาน เรื่องราวสิ่งมีชีวิต ที่ถูกคุกคามโดยมนุษย์อย่างหนัก เป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นไว้ เรื่องราวเป็นมาอย่างไร มาดูไปพร้อมกันกับ พาตะลอน
ผู้บุกเบิกที่เป็น เสียงแรกของการอนุรักษ์ คือ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล เกิดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2450 ที่บ้านบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และท่านผู้นี้ได้สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
หลังจากได้จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ได้จัดตั้ง “สหการแพทย์” ในปี พ.ศ. 2478 บริการตรวจรักษาประชาชนทั่วไป ต่อมาสหการแพทย์ได้จัดทำวารสารรายเดือนชื่อ “ข่าวสหการแพทย์” เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์ทั่วไป สำหรับประชาชน
ตัวอย่างความรู้ทางการแพทย์ เช่น หนังสือเกี่ยวกับ วัณโรค โรคหืด และโรคอื่นๆ เป็นหนังสือที่เขียนออกมาให้ประชาชนอ่านเข้าใจได้ง่าย และเป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยในขณะนั้น นายแพทย์บุญส่ง มีความสนใจ และมีเวลาเที่ยวป่ามากขึ้น จึงได้มีโอกาสเที่ยวชมธรรมชาติ และผจญภัยแบบนักกีฬาล่าสัตว์ พร้อมกับศึกษาชีวิตของสัตว์ป่า
การล่าสัตว์สมัยนั้น คือการล่าเฉพาะตัวผู้ที่โตเต็มวัย ไม่ล่าตัวเมียและลูก ไม่ยิงทิ้งยิงขว้าง ล่าแค่พอกินพอใช้ การล่าสมัยนั้นจึงไม่เป็นการทำลายพันธุ์สัตว์ ให้สูญสิ้นน้อยลง แต่ภายหลังเปลี่ยนจาก นักกีฬาล่าสัตว์ มาเป็นนักธรรมชาติวิทยา หลังจากสัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง
เนื่องจากสลดใจ ที่เห็นความพินาศของสัตว์ป่า และป่าไม้ของเมืองไทย ซึ่งก็ได้นำไปสู่เจตนารมณ์ และความพยายามอย่างไม่ลดละ เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ ตลอดอายุขัยของท่าน
เสียงแรกของการอนุรักษ์ เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2498 ประเทศไทยเผชิญกับการทำลายล้างสัตว์ป่า และป่าไม้อย่างมาก นายแพทย์บุญส่ง และคณะนักนิยมไพร ซึ่งส่วนใหญ่เคยเที่ยวป่ากันมาก่อน ได้รวมตัวจัดตั้ง “นิยมไพรสมาคม” เมื่อปี พ.ศ. 2496
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนติดตามสถานการณ์ด้านป่าไม้ และสัตว์ป่า พร้อมทั้งส่งเสริมและเรียกร้อง ให้มีการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ต่อมาท่านได้ริเริ่มออกนิตยสารชื่อ นิยมไพรสมาคม ฉบับปฐมฤกษ์ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2501
นอกจากนี้ นายแพทย์บุญส่งได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับสัตว์ป่าอีกมากมาย เพื่อการปลูกฝังนิสัยรักธรรมชาติ ให้แก่เยาวชน และประชาชนทั่วไป รวมไปถึงการเขียนหนังสือคู่มือดูนกเมืองไทย Bird Guide of Thailand นับได้ว่าเป็นคู่มือดูนกเล่มแรกของประเทศไทย
ผลงานชิ้นแรกๆของนิยมไพรสมาคม คือ การผลักดันให้รัฐบาล ออกกฎหมายที่สามารถป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า หรือกฎหมายคุ้มครองพื้นที่ป่า
การรณรงค์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติต่อรัฐบาลในเวลานั้น เป็นงานที่ใหม่มากๆ สำหรับประเทศไทยในสมัยนั้น เพราะทั้งรัฐบาล และนักการเมืองน้อยคนนัก ที่จะสนใจต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ท่านก็ยังทำงานหนัก เพื่อที่จะกระตุ้นให้ผู้แทนราษฎรในยุคนั้น หันมาสนใจการอนุรักษ์สัตว์ป่า
ในหลายๆครั้ง ท่านถึงต้องขนเขาสัตว์ ทั้งเขาสมัน เขาละองละมั่ง เข้าไปที่รัฐสภาเพื่อเรียกร้องแทนเสียงของสัตว์ป่า ต่อนักการเมือง จนในที่สุด ความสำเร็จก้าวแรกก็เกิดผล หลังจากที่ต้องต่อสู้ รณรงค์ และโดนข่มขู่จากผู้อื่น เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่าน “พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503” ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ครั้งนั้น นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ได้ชักชวน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อสำรวจสภาพป่าดงพญาเย็น ป่าดงดิบอันยิ่งใหญ่ของเมืองไทย ภาพป่าดงพญาเย็นจากเฮลิคอปเตอร์ ที่ปรากฏต่อสายตานายกรัฐมนตรี เป็นภาพของป่าดงดิบที่เว้าแหว่ง เป็นหย่อมๆ
จอมพลสฤษดิ์ ผู้ซึ่งไม่เคยคิดว่าป่าไม้ในเมืองไทย จะมีวันหมดสิ้นไปได้ จึงตระหนักถึงหายนะของป่าที่กำลังจะเกิดขึ้น ผลจากวันนั้นได้มีการประกาศจัดตั้ง “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” ในปี พ.ศ. 2505
จากนั้น จึงได้มีการประกาศป่าขนาดใหญ่หลายแห่ง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี ประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกในปี พ.ศ.2508 และป่าอีกหลายแห่ง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
เป็นที่รู้กันในบรรดาคนใกล้ชิดของนายแพทย์บุญส่งว่า สิ่งที่ท่านใฝ่ฝันจะเห็นเป็นที่สุด ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต ก็คือการมี พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Museum of Natural History) เกิดขึ้นในประเทศไทย
ทุกสิ่งที่ท่านได้พยายามเก็บรวบรวมมาชั่วชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ตัวอย่างสัตว์ เขาสัตว์นานาชนิด หนังสือตำรา จะยกให้เป็นสมบัติของชาติ และจัดแสดงในรูปของพิพิธภัณฑ์ เพื่อการค้นคว้า และศึกษาสำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องธรรมชาติ
ลักษณะของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ที่ท่านได้วางไว้ จะต้องมีส่วนของนิทรรศการจัดแสดง ให้ผู้สนใจได้เข้าชมเพื่อการศึกษา มีการทำงานวิจัยศึกษาในเรื่องต่างๆ มีการจัดเก็บรวบรวมตัวอย่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ และสุดท้ายต้องมีการจัดทำสวนพฤกษศาสตร์ด้วย
เสียงแรกของการอนุรักษ์ จากนายแพทย์บุญส่ง ที่ต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติของไทย ได้ประสบความสำเร็จ แถมในที่สุดความฝันของท่านก็ได้กลายเป็นจริงด้วย เพราะบุคคลใกล้ชิดของท่าน ได้สานต่อเจตนารมณ์ โดยการสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาขึ้น และดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติไทยต่อไป
อัปเดตข่าวสารฉับไวทุกวัน ทุกเรื่องบนโลกใบนี้ ทุกข่าวสารใหม่ เนื้อหาเน้นๆ รู้ทันก่อนใคร ติดตามได้ที่พาตะลอน