สมเด็จ พระบรมราชินีนาถ กับวิทยาศาสตร์ ท่านเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญของ ประวัติวิทยาศาสตร์ไทย ที่ได้มีกิจกรรมส่งเสริมทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมถึง ศิลปาชีพของไทย ที่เป็นประโยชน์แก่ปวงชนชาวไทยทั้งมวล
“เมื่อย่างก้าวเข้าไปตามพิพิธภัณฑ์ ไปดูพิพิธภัณฑ์ของเขา จะเห็นได้ว่ารัฐบาลจะทุ่มเทเงินทองเป็นจำนวนมากในการที่จะอบรม และให้การศึกษาแก่ประชาชนตั้งแต่เด็กๆ ไปพิพิธภัณฑ์ของเขาเข้าไปดูแล้วน่าดูเหลือเกิน ทั้งในด้านตั้งแต่ของโบราณมา ประวัติศาสตร์”
“จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน การเจริญ ทางด้านวัตถุต่างๆ ทางเทคโนโลยีต่างๆ แต่ที่สำคัญเขาสอดแทรกศีลธรรมไปทุกหนทุกแห่ง แม้กระทั่งใน Museum ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เขาจะให้เห็นว่าถ้าแม้จะเอาแต่ความเจริญทางด้านวัตถุแล้ว คนจะเสื่อมลง จะเกิดความโลภ เพราะฉะนั้น แล้วเขาจะให้ความเจริญทางด้านจิตใจนี้ควบคู่กันไปตลอด”
ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้นำในการใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในการพัฒนาอาชีพ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรที่ยากจนในท้องถิ่นชนบทห่างไกล
ตลอดจนทรงส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการธำรงรักษา และฟื้นฟูหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย ด้วยความวิริยะอุตสาหะ จนบังเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน พระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ เป็นที่ชื่นชมของปวงชนทั้งในและต่างประเทศ
การดำเนินพระราชกรณียกิจตามพระราชปณิธานดังกล่าว ได้กระตุ้นและชักนำให้สังคมไทยตื่นตัว เกิดการคิดค้น ใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน เกิดการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีดั้งเดิม กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการพัฒนาอาชีพ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน ในด้านชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกร ซึ่งช่วยให้การพัฒนาประเทศไปได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม จึงกำหนดโครงการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ขึ้น เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2535 โครงการดังกล่าวมีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ
ปีมหามงคล 2535 รัฐบาลและประชาชนชาวไทย ต่างพร้อมใจกันเฉลิมฉลองในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยความปิติยินดียิ่ง
งานกำหนดรูปแบบรายละเอียดต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ นำโดยนายเฉลิมชัย ห่อนาค และคณะ เริ่มก่อตัวเป็นรูปร่างหลังจากการดูงาน ศึกษาเปรียบเทียบกับพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง หลากหลายรูปแบบ ทั้งในเอเชีย อเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย
อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ได้รับการออกแบบให้เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ สะท้อนถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการก่อสร้างของประเทศ ดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็น และแสดงถึงรูปลักษณ์ใหม่ของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
ริเริ่มจัดทำแผนแม่บทนิทรรศการวิทยาศาสตร์ภายในอาคาร โดยได้รับการสนับสนุนจาก British Council ในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนพิพิธภัณฑ์ มาให้คำปรึกษา แนะนำการจัดวางรูปแบบ นิทรรศการ แก่คณะทำงานจัดทำแผนแม่บท
อาคาร มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ 3 ลูก ยึดติดกัน ใช้มุมแหลมเป็นจุดรับน้ำหนัก 3 จุด จัดวางอย่างสมดุล และมีความแข็งแรง แต่ละจุดสามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 4,200 ตัน รูปลักษณ์ของอาคารบ่งบอกถึงการใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทันสมัย
โครงสร้างของอาคารเป็นเหล็กป้องกันสนิมเคลือบด้วยสี EPOXY พื้นที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนผนังด้านนอก เป็นแผ่นเหล็ก เคลือบเซรามิกที่ไม่ต้องทาสีตลอดอายุการใช้งาน วัสดุประกอบอาคารทั้งหมด ได้รับการคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้เป็นอาคารที่ได้มาตรฐาน มีเอกลักษณ์และทันสมัย
อพวช. จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2538 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2538 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2538 เป็นต้นมา
ระยะแรก อพวช. เปิดดำเนินการ ณ สำนักงานชั่วคราวที่อาคารรสาทาวเวอร์ชั้น 16 ในพื้นที่ประมาณ 600 ตารางเมตร หลังจากนั้นจึงย้ายสำนักงานมายังสำนักงานถาวร บริเวณเทคโนธานี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541
เมื่อการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แล้วเสร็จในปลายปี 2539 สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้มอบโอนอาคารนี้ให้ อพวช. รับดำเนินการต่อมา
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 อพวช. เริ่มดำเนินงานว่าจ้างออกแบบ จัดทำและติดตั้ง นิทรรศการวิทยาศาสตร์ ชั้นที่ 1-5 ในวงเงินงบประมาณ 790 ล้านบาท ดำเนินการระหว่างปี 2540-2542
วันที่ 15 กันยายน 2540 เริ่มดำเนินการออกแบบจัดทำนิทรรศการเทคโนโลยีภูมิปัญญาไทย บนชั้นที่ 6 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของอาคาร เพื่อให้เป็นชุดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
วันที่ 8 มกราคม 2543 ในวันเด็กแห่งชาติ เยาวชนและผู้ปกครองกว่าหมื่นคน ทยอยเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ แสดงถึงความตื่นตัว และความสนใจของประชาชน ที่มีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการเปิดตัว ศูนย์กลางความรู้สำหรับการศึกษา
ท่านทรงเป็นอีกหนึ่งบุคคล ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ในไทย เล็งเห็นถึงการพัฒนาประเทศจากชุมชนภายนอก ที่ขาดการเข้าถึงเทคโนโลยี ความเจริญ ท่านทรงดำเนินการหลายอย่าง ผลักดัน สนับสนุนให้วิทยาศาสตร์ไทยก้าวหน้า
อัปเดตข่าวสารฉับไวทุกวัน ทุกเรื่องบนโลกใบนี้ ทุกข่าวสารใหม่ เนื้อหาเน้นๆ รู้ทันก่อนใคร ติดตามได้ที่พาตะลอน